รับออกแบบเครื่องประดับ

หน้าที่ของการออกแบบและการพัฒนาสินค้า

หน้าที่ในการออกแบบและพัฒนาสินค้านั้น ถือเป็นหน้าที่เริ่มต้นและเป็นหน้าที่ ที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจและศึกษา ก่อนที่ผู้ประกอบการจะพัฒนาไปสู่หน้าที่อื่น ๆ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สินค้า อัญมณีและเครื่องประดับที่วางจำหน่ายในท้องตลาดนั้น แบ่งออกอย่างคร่าว ๆ เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง (Brand Name) และสินค้าที่ไม่มีชื่อเสียง (NON-BRAND)

การเริ่มต้นของการออกแบบที่ดีนั้น ควรต้องศึกษาก่อนว่าจะออกแบบและพัฒนาสินค้าประเภทใด การออกแบบและพัฒนาสินค้าที่มีชื่อเสียงนั้น อาจต้องคำนึงถึงมโนมติ (Concept) หรือเพื่อให้สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้านั้น ๆ ซึ่งสินค้าเครื่องประดับอัญมณีเหล่านี้ มีราคาแพง รูปแบบโดดเด่น และมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย อาทิเช่น เครื่องประดับ Cartier, Tiffany & Co., Harry Winston , Bulgari ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ออกแบบสินค้าที่มีชื่อเสียงเหล่านี้มักมีประสบการณ์สูง

การออกแบบและพัฒนาสินค้าเครื่องประดับโดยทั่วไปนั้น ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยด้วยกันคือ

  1. แหล่งตลาด
  2. รูปแบบสินค้า
  3. ระดับคุณภาพ
  4. ระดับราคา
  5. ฐานผลิต

1. สำรวจแหล่งตลาด อาจกล่าวได้ว่า สินค้า 1 ชิ้นนั้น ไม่สามารถที่จะขายให้กับตลาดทั่วโลกได้ สินค้าและเครื่องประดับอัญมณีนั้น แตกต่างกับสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่น ๆ เช่น ตู้เย็น 1 เครื่อง หรือทีวี 1 เครื่องนั้น ผู้บริโภคในอเมริกา, ญี่ปุ่น หรือเอเชีย อาจซื้อเครื่องหมายการค้าเดียวกัน ขนาดเดียวกัน หรือกางเกงยีน 1 ตัว อาจขายได้ที่ จีน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย แต่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแตกต่างจากสินค้าเหล่านั้น เพราะเป็นสินค้าที่ขึ้นกับความพอใจ รสนิยม วัฒนธรรม ประเพณี ทัศนคติ ของประชาชนในแต่ละประเทศนั้น ๆ ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีเอกลักษณ์ รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น แบบแหวน 1 วง ที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกานั้น อาจจะขายไม่ได้เลยในประเทศญี่ปุ่น หรือบางครั้งอาจขายได้มากเช่นกันในประเทศแคนาดา เป็นต้น

2. รูปแบบของสินค้า ถึงแม้ตลาดแต่ละประเทศจะมีเอกลักษณ์ ความต้องการที่แตกต่างกันไป แต่ รูปแบบในการออกแบบสินค้าสามารถแยกเป็น 2 แนวทางหลัก คือ

  • แนวทางคลาสสิก เป็นรูปแบบพื้นฐาน ได้รับความนิยมตลอดกาล มีรูปแบบเรียบง่าย ใส่ได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ยึดตามแฟชั่น (นิยมตลอดเวลา) แนว คลาสสิก จะมีระดับราคาตั้งแต่ไม่แพงจนถึงแพงมาก
  • แนวแฟชั่น เป็นแบบที่ขึ้นอยู่กับรสนิยมของตลาดในแต่ละสมัยตามแฟชั่น ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอยู่ ตลอดเวลาทั้งรูปแบบและราคา เช่น ในปี ค.ศ. 1994 ตลาดนิยมเครื่องประดับในรูปแบบสัตว์ต่าง ๆ เช่น เต่า, ปลาโลมา, ไดโนเสาร์, ช้าง แต่ภายหลังปี ค.ศ. 1995 ตลาดหันมานิยมแนวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รูปแบบเครื่องประดับจึงเน้นหนักเป็นแบบใบไม้ กิ่งไม้ เป็นต้น

3. ระดับคุณภาพ ในตลาดหนึ่ง ๆ นั้นสามารถแยกคุณภาพสินค้าได้หลากหลาย สินค้าที่ ผลิตนั้นอาจมีคุณภาพต่ำจนถึงคุณภาพสูง ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการเช่น สถานที่จัดจำหน่าย วิธีจัดจำหน่าย หรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการจำหน่าย ผู้ผลิตส่วนใหญ่ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ครบทุกระดับตามความต้องการของตลาด ดังนั้น ผู้ผลิตจึงควรศึกษาและผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดนั้น ๆ เช่น หากตลาดต้องการสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ ผู้ออกแบบก็ต้องออกแบบโดยใช้วัตถุดิบที่ไม่เน้นคุณภาพ ง่ายต่อการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ในทางตรงกันข้าม หากตลาดต้องการสินค้าคุณภาพสูง ผู้ออกแบบก็ต้องพิถีพิถันในการออกแบบเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง และผลิตประณีต ตลาดสินค้าอัญมณี อาจกล่าวได้ว่ามีทั้งสินค้าระดับคุณภาพต่ำไปจนถึงคุณภาพสูง ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในบทต่อไป

4. ระดับราคา สินค้าอัญมณีที่มีชื่อเสียง เช่น Cartier นั้น การออกแบบไม่ต้องคำนึงถึง ราคาหรือต้นทุนการผลิตเท่าใดนัก เพราะความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้า สามารถทำให้สินค้านั้นขายได้โดยง่าย สินค้าเหล่านี้จึงมักถูกออกแบบให้เป็นชิ้นงานใหญ่ ตระการตา หรือใช้วัตถุดิบที่หายาก และมีราคาแพง ตลาดผู้บริโภคสินค้าอัญมณีส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากตลาดอื่น คือ แบ่งเป็นตลาดบน, ตลาดกลาง และตลาดล่าง ตลาดบนคือสินค้า คุณภาพสูง เช่น Cartier ส่วนตลาดกลาง, และตลาดล่างนั้น ผู้ออกแบบจำเป็นต้องศึกษากำลังซื้อของลูกค้า เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการออกแบบและกำหนดวัตถุดิบให้ผลิตได้ราคาตามกำลังซื้อของลูกค้าเช่น สินค้าอัญมณีที่วางจำหน่ายในร้านที่จำหน่ายสินค้าราคาถูก (Discount Store) ซึ่งมีอยู่มากในสหรัฐอเมริกา ผู้ออกแบบควรทราบว่าแบบที่จะเสนอขายกับร้านนี้ไม่ควรมีราคาแพง ผู้ผลิตและผู้ออกแบบจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาตลาดของตนอย่างถ่องแท้จนทราบข้อมูล แล้วจึงนำมาออกแบบหรือสนองลูกค้าของตนอย่างมีประสิทธิผล

5. ฐานผลิต เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งอัญมณีแห่งหนึ่งของโลก แม้จะไม่มีแหล่งวัตถุดิบเอง แต่ก็เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเจียระไนเพชรและพลอยของโลก โดยมีการนำพลอยดิบจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาเจียระไน การหาวัตถุดิบที่หาได้จากเมืองไทยเป็นหลัก ปัจจัยทั้งห้าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นส่วนสำคัญที่ผู้ประกอบอัญมณีต้องศึกษาให้กระจ่างและนำมา เป็นแนวทางในการพัฒนาในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบอัญมณีนั้น อาจไม่จำเป็นที่ต้องเข้าใจและปฏิบัติตามในทุกข้อ แต่จะปฏิบัติตามมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตลาดและสถานการณ์นั้น ๆ เป็นผู้ตัดสินใจ