iNattt ทวิตติดขอบเวทีเสื้อแดง

บทความจาก Positioning Magazine

ปกรณ์ โพธิ์แสงดา

ถ้าเอ่ยชื่อ “ปกรณ์ โพธิ์แสงดา” หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอก @iNattt แล้ว ชาวทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 3 พันคนที่รู้จักเขาคนนี้ แบรนด์เมเนเจอร์และแฟชั่นดีไซน์ ร้านบิวตี้เจมส์ ร้านจิวเวลรี่ ที่ใช้ช่วงวันหยุด ร่วมอยู่ในดนตรีวง #ihear เล่นประจำที่ร้านกาแฟวาวี ซอยอารีย์ ที่ชาวทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กคุ้นเคยดี แล้วเขายังทำให้ชาวออนไลน์ได้รู้จักมากขึ้น เมื่อตัดสินใจเกาะเวทีเสื้อแดง รายงานสดๆ จนโดนไล่ล่าจากกลุ่มม็อบเสื้อแดง

“หลังจากเหตุการณ์วันนั้น มีคนทวิตเพิ่มขึ้นทันที 1พันคนภายในเวลาไม่ถึงอาทิตย์” ปกรณ์ หรือ นัท ย้อนให้ฟังอย่างอารมณ์ดี แม้ว่าการเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจะผ่านมาเป็นเดือนแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าควันหลงจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังไม่จางหาย

นัท หรือ ปกรณ์ เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากม็อบเสื้อแดง เมื่อบริษัทจิวเวลรี่ที่เขาทำงานอยู่เริ่มได้รับผลกระทบ ลูกค้าเคยบินมาเมืองไทยเป็นประจำต้องยกเลิก ส่วนอีเวนต์ที่เคยจัดเป็นประจำก็ต้องเลื่อนออกไป คิดว่าอีกไม่นานผลกระทบคงต้องมาถึงลูกจ้างอย่างเขา บวกกับความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว ทำให้เขาตัดสินใจเข้าไปในม็อบ

“อยากไปฟังว่าบนเวทีเขาพูดอะไร เพราะคำพูดของคนบนนั้นมีผลต่อความคิดของทุกคน ที่ผ่านมาแม้ว่าสื่อจะนำเสนอข่าวของม็อบเสื้อแดง แต่ก็ไม่ได้เสนอทั้งหมด เลือกนำเสนอเฉพาะข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง และมุมมองก็ไม่เหมือนกัน เลยอยากไปดู ไปกรองด้วยตัวเอง” นัทบอกเหตุผล

ปกรณ์ โพธิ์แสงดา

เขาอาจเหมือนอีกหลายๆ คนที่เข้าไปสังเกตการณ์ ส่งข้อมูลขึ้นบนทวิตเตอร์ไปตามปกติ หากข้อความที่เขาทวิตบอกเล่ากับเพื่อน ซึ่งมีกลุ่มที่ Follower อยู่ประมาณหลักพัน ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนในม็อบเสื้อแดงที่มี Social Media ไว้คอยรับส่งข่าวสาร จนเกิดการท้าทายไล่ล่าหาตัวกันเกิดขึ้น

“ไปถึงม็อบ ผมฟังเสร็จก็ทวิตตลอด เขียนอย่างที่ผมเห็นผมคิด ไม่ได้อคติกับใคร แต่อาจเป็นมุมมองที่ต่างไปจากพวกเสื้อแดงเขา ก็เลยไม่ชอบใจ พอดีช่วงนั้นมีคน Retweet ข้อความผมเยอะ เขาเลยเริ่มตาม เราก็ทวิตตอบโต้กัน พอเขารู้ว่าผมอยู่ในม็อบ เขาก็ทวิตบอกให้ผมไปหาเขาหลังเวที” นัท เล่า ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่า หากเสื้อแดงคนดังกล่าวเจอตัว อะไรจะเกิดขึ้น

เพื่อนฝูงวง # ihear ซึ่งก็อยู่ในเหตุการณ์ เล่าเสริมว่า “เพื่อนๆ ห่วงกันมาก โทรไปนัทเขาก็ไม่รับ เพราะแบตเตอรี่เขากำลังจะหมด เราก็คิดจะไปช่วย เพราะสิ่งที่เราห่วงมาก คือคนเสื้อแดงที่เป็นคู่กรณี เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร อวตาร์ (รูปภาพ) ที่ติดอยู่ก็ไม่ได้ใส่รูปจริง ในขณะที่เขารู้ข้อมูลของนัททุกอย่าง ย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ” @iChattt ฉัตรเฉลิม นามวงศ์พรหม วิศวกรประจำบริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟร์ เพื่อนในวง ihear ช่วยกันเล่าเสริม

ปกรณ์ โพธิ์แสงดา

โชคดีที่นัทหลบออกมาจากชุมนุมเสื้อแดงได้ก่อนเหตุการณ์จะบานปลาย ท่ามกลางความเป็นห่วงใย ของเพื่อนฝูง และคนที่ตามเขา ซึ่งรวมถึงคนดังใน Twitter หลายคนสนใจและ Mention @dc_danai @iwhale @macroart

จนกลายเป็นประเด็นร้อนในทวิตเตอร์ ที่ทำให้มีคนติดตาม Follower วันนั้นวันเดียวเพิ่มทีเดียว 500 คน และหลังจากอีกสัปดาห์เพิ่มขึ้นอีกพันคน จนกระทั่ง พัชร เกิดศิริ @iPattt ต้องนำ Timeline ของเหตุการณ์วันนี้ขึ้นในเว็บ

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนที่จะได้รับความสนใจจะต้องมีโพรไฟล์มากๆ ต้องเป็นดารา หรือไม่ก็คนดัง แต่เวลานี้ คนธรรมดาๆ อย่างเรา ถ้าทวิตข้อความน่าสนใจ คนมีชื่อเสียงมาเห็นเข้า และนำข้อความไปขยายต่อ นี่คือข้อดีของทวิตเตอร์ มันเหมือนกับการเชื่อมความเห็นของคนเข้าด้วยกัน” นัท สะท้อน และมองว่า เหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้คนหันมาสนใจการเมืองเยอะขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีของทวิตเตอร์ ที่สร้างการรับรู้มากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงจากคนธรรมดาๆ

ปกรณ์ โพธิ์แสงดา

แต่ในด้านดีย่อมมีด้านเสีย ในมุมมองของนัท คือ เรื่องของข่าวลือ ข่าวไม่ได้กรองจะแพร่เร็วมาก เขายกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์ระเบิดที่สีลม มีคนทวิตว่าโรงพยาบาลศิริราชขอบริจาคเลือด คนก็ไปกันเต็มแต่ปรากฏว่าศิริราชไม่มีผู้ป่วยโดนระเบิด ดังนั้นผู้รับสื่อต้องกลั่นกรองและเชื่ออย่างมีเหตุผล

ปกรณ์ โพธิ์แสงดา

ที่สำคัญ เขามองว่า เป็นจุดเปลี่ยนของสื่อดั้งเดิม คนจะหันมาหาข้อมูลจาก Social Media มากขึ้น ส่วนสื่อดั้งเดิมสื่อจะเป็นเรื่องอ้างอิง แต่ไม่ใช่สิ่งที่คนต้องการเสพ สื่อดังเดิมต้องปรับตัว อย่างเช่น แนวทางของสุทธิชัย หยุ่น ที่หันมาให้ความสำคัญกับนักข่าวภาคประชาชน ข้อความไหนน่าสนใจ จะRetweet และผลักดันให้นักข่าวไปเป็นนักข่าวภาคประชาชน นั่นคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสื่อยุค Social Media

นักออกแบบลั่นล้าคนหนึ่งที่ชอบร้องเพลงให้คนฟังอย่างมีความสุขVocalist #iHear band+Manager Fashion Designer เป็นประวัติสั้นๆ ที่ iNattt ให้คำจัดความสั้นๆ ของตัวเขาแก่ชาวทวิตเตอร์

หากดูอวตาร์ หรือรูปของเขาบนทวิตเตอร์แล้ว อาจคิดว่าหนุ่มวัย 28 ปีคนนี้ ต้องคิดว่าเป็นคอข่าวการเมืองตัวยง แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในความสนใจในหลายๆ เรื่องของหนุ่มคนนี้ เพราะเรื่องราวที่เขาทวิต มีทั้งเรื่องราวใกล้ตัว ประสบการณ์ที่พบพาน และยังมีอีกด้านหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความรื่นรมย์เป็นพิเศษ นั่นก็คือเสียงเพลง เพราะนัทเป็นหนึ่งในสมาชิกวง iHear หากใครเป็นขาประจำร้านกาแฟ ซอยอารี คงคุ้นเคยกับนัทและเพื่อนๆ ในวงของเขาไม่มากก็น้อย

iHear Band กับวงสังคม Social Network

วง iHear เป็นกลุ่มคนทำงานที่ชื่นชอบเสียงเพลง ซึ่งใช้เวลาว่างจากงานประจำ รวมตัวกันเป็นเล่นดนตรีที่ร้านกาแฟวาวี ที่กลายเป็นแหล่งนัดพบของชุมชนชาวโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คไปแล้ว

ที่มาของ iHear เรียกว่าไม่ธรรมดา พวกเขาถูกเรียกว่าเป็นวง Social Network ซึ่งชาวทวิตตอร์และเฟซบุ๊กที่มานั่งจิบกาแฟในร้านติดใจในลีลาการเล่น สนุกกับเพลง เอนเตอร์เทนกับคนฟัง จนเกิดการบอกผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ยิ่งเมื่อได้คนดังในทวิตเตอร์ อย่าง @iwhale ปรเมศร์ มินศิริ บอกต่อ วงนี้ก็เลยกลายเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวทวิตเตอร์ อย่างงาน Twittbkk และ BarCamp วง iHear ก็ต้องไม่พลาด

เครื่องมืออย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กกลายเป็นช่องทางในการสื่อสารกับแฟนเพลง ที่สามารถตามความคืบหน้า หรือแม้แต่ทวิตขอเพลงกันก่อน และระหว่างเล่นสดๆ ก็ยังได้

ดูได้ที่

http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=87902